วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552

กินเจ อิ่มบุญ อิ่มสุขภาพ

เทศกาลกินเจกำลังจะมาถึงอีกครั้งแล้ว ในช่วงหลายปีมานี้ในเทศกาลกินเจจะมีอาหารเจหลากหลายรูปแบบทำขายอย่างแพร่หลาย สามารถหาซื้อได้ง่าย สอดคล้องกับมีผู้คนจำนวนมากสนใจหันมาร่วมถือศีล กินเจมากขึ้น สำหรับผู้รักสุขภาพทั้งหลายอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า อาหารเจจะให้สารอาหารครบถ้วนหรือไม่ และหากกินเจต่อเนื่องเป็นเวลานานจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารหรือไม่ อาหารเจมีลักษณะคล้ายกับอาหารมังสวิรัติ คือ ไม่มีส่วนประกอบที่เป็นเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ จะต่างกันตรงที่อาหารเจจะมีข้อห้ามการใช้ส่วนประกอบประเภทผักที่มีกลิ่นฉุน บางชนิดด้วย สารอาหารต่างๆที่เราได้รับจากการกินเจมาจากอาหารประเภทข้าว/แป้ง ถั่วต่างๆ ผัก ผลไม้ และไขมัน เมื่อเรากินผัก ผลไม้เพิ่มขึ้นและหลากหลายขึ้น นอกจากจะได้รับใยอาหารเพิ่มขึ้นช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย ป้องกันท้องผูก ริดสีดวงทวาร มะเร็งลำไส้ เรายังได้รับวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ครบถ้วนมากขึ้น ได้สารต้านอนุมูลอิสระ สารพฤกษเคมี ซึ่งช่วยให้การทำงานของร่างกายให้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตามยังมีวิตามิน แร่ธาตุและสารอาหารบางชนิดที่พบแต่เฉพาะในเนื้อสัตว์เท่านั้น หรือแม้พบในพืชผักก็อยู่ในรูปที่ร่างกายดูดซึมได้ไม่ดีนัก เช่น วิตามินบี 12 ซึ่งเป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ในผู้ใหญ่ต้องการวิตามินบี 12 เป็นปริมาณน้อยเพียง 2-4 ไมโครกรัมต่อวัน ร่างกายเราสามารถเก็บวิตามินบี 12 ไว้ใช้ได้นาน 3-5 ปี ดังนั้นจึงไม่ค่อยพบภาวะขาดวิตามินบี 12 ในคนทั่วไป แต่เนื่องจากวิตามินบี 12 พบเฉพาะในเนื้อสัตว์เท่านั้น ในผู้ที่กินเจหรือมังสวิรัติเป็นเวลานานจึงมีโอกาสขาดวิตามินบี 12 ได้ ธาตุเหล็ก เป็นแร่ธาตุที่พบทั้งในพืชและสัตว์ ร่างกายของเราต้องการธาตุเหล็กเพียงวันละ 1.5 มิลลิกรัม แต่ธาตุเหล็กที่เรากินเข้าไปจะดูดซึมได้เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ตามข้อกำหนดปริมาณสารอาหารที่คนไทยควรบริโภคต่อวันจึงกำหนดว่าเราควรได้รับธาตุเหล็กวันละ 15 มิลลิกรัม ธาตุเหล็กที่อยู่ในเนื้อสัตว์อยู่ในรูปแบบที่ดูดซึมได้ดีกว่าธาตุเหล็กที่อยู่ในพืชมากกว่า 2 เท่า แต่ธาตุเหล็กที่อยู่ในพืชจะดูดซึมได้ดีขึ้นหากเรากินอาหารที่มีธาตุเหล็ก ร่วมกับอาหารที่มีวิตามินซีสูง ดังนั้นในผู้ที่กินเจหรือมังสวิรัตินานๆ จะป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กได้ โดยเลือกกินผักใบเขียวเข้มซึ่งมีธาตุเหล็กอยู่สูงเป็นประจำควบคู่กับการกิน ผัก ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง เป็นต้น โปรตีน เป็นสารอาหารที่อยู่ในโครงสร้างของร่างกาย ร่างกายเรามีโปรตีนอยู่ประมาณร้อยละ 18 ของน้ำหนักตัว เราต้องการโปรตีนเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต และซ่อมแซมส่วนต่างๆของร่างกาย โปรตีนมีหน่วยย่อยเป็นกรดอะมิโน ซึ่งมีทั้งหมด 20 ชนิด ในจำนวนนี้มี 9 ชนิดที่จัดว่าเป็นกรดอะมิโนจำเป็นเนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ เนื้อสัตว์จัดเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดี เนื่องจากมีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน ขณะที่โปรตีนจากพืชจัดว่ามีคุณภาพต่ำ เนื่องจากอาจขาดกรดอะมิโนจำเป็นตั้งแต่หนึ่งถึงหลายชนิดไป ในผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ จะได้รับโปรตีนจากพืชเท่านั้นจึงต้องใส่ใจเลือกพืชผักให้หลากหลาย เนื่องจากพืชผักต่างชนิดจะขาดกรดอะมิโนจำเป็นต่างชนิดกันไป การกินพืชผักให้หลากหลายจึงทำให้เราได้รับกรดอะมิโนจำเป็นครบทุกชนิดร่างกายจะสามารถทำงานได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตามร่างกายเรามีความสามารถในการเก็บสารอาหารต่างๆ เพื่อนำออกมาใช้ในยามจำเป็น ดังนั้นการกินเจในช่วงระยะเวลาสั้นเพียง 10 วัน ไม่สร้างปัญหาการขาดสารอาหารแต่อย่างใด แต่ในผู้ที่กินเจเป็นเวลานานควรใส่ใจเลือกชนิดอาหารให้หลากหลายเพื่อให้ได้ สารอาหารครบถ้วนและอาจจำเป็นต้องเสริมวิตามินบี 12 ด้วย
เรามาดูกันต่อว่าจะกินเจอย่างไรให้อิ่มทั้งบุญ และอิ่มสุขภาพเราได้อิ่มบุญ คือ ได้ถือศีลทำจิตใจให้บริสุทธิ์ควบคู่ไปกับการกินเจ ซึ่งเป็นการทำบุญไม่เบียดเบียนสัตว์ ส่วนการอิ่มสุขภาพนั้น การงดเว้นเนื้อสัตว์ ไขมันจากสัตว์ให้ประโยชน์ทางสุขภาพกับเราแล้วส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการเลือกของแต่ละคน อาหารเจที่วางขายทั่วไปมีหลายชนิด บางชนิดมีส่วนผสมของแป้งและไขมันเป็นหลัก เช่น หมี่ผัด ก๋วยเตี๋ยวหรือกับข้าวที่ใช้เนื้อสัตว์เทียมที่ทำจากแป้งหมี่กึง ขนมประเภทปอเปี๊ยะทอด ข้าวโพด เผือก หรือไชเท้าทอด โดยที่อาหารประเภทแป้งเมื่อทอดจะอมน้ำมันมากอยู่แล้วแต่ในการกินขนมยังมีน้ำ จิ้มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลและถั่วลิสงซึ่งเป็นถั่วที่มีไขมันสูงเพิ่มเข้าไปอีก นอกจากนี้การกินแต่แป้งซึ่งย่อยง่ายจะทำให้เราหิวบ่อยขึ้นจึงต้องกินหลายมื้อขึ้น หากเราเลือกกินแต่อาหารเหล่านี้ตลอดเทศกาลกินเจคงไม่เป็นผลดีกับสุขภาพแน่ นอนและยังทำให้น้ำหนักตัวขึ้นได้เนื่องจากเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง แต่หากเลือกกินอาหารที่มีส่วนผสมหลักเป็นผัก เต้าหู้ หรือ โปรตีนเกษตร ซึ่งปรุงโดยใช้น้ำมันปริมาณน้อยหรือไม่ใช้น้ำมัน หลีกเลี่ยงการใช้กะทิ และเลือกผลไม้เป็นอาหารว่างแทนอาหารว่างให้พลังงานสูงอื่นๆ เทศกาลกินเจปีนี้เราคงได้อิ่มบุญและอิ่มสุขภาพถ้วนหน้า

วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ทำไมเครื่องบินในไทย จึงใช้คำว่า HS

เคยสังเกตกันบ้างไหมว่า เครื่องบินในประเทศไทยได้ใช้สัญลักษณ์การลงทะเบียนอากาศยานที่จดทะเบียนในประเทศไทยที่ขึ้นต้นด้วย HS หรือที่เรียกกันว่า Hotel Sierra กันนั้น มีประวัติมาจากหนใดกัน
ประเทศที่ขอ Prefix ได้ในช่วงเวลาใกล้ๆกับประเทศไทย ก็มักจะเลือกสัญญาณเรียกขานที่บ่งถึงประเทศตัวเอง เช่น ญี่ปุ่น หรือ JAPAN ได้ JA ส่วน Germany ซึ่งเรียกตัวเองว่า ดอยช์แลนด์ ก็ได้ DL แล้วคำว่า HS ที่นำหน้าสถานีของประเทศไทยนั้นหมายความว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์อุดม จะโนภาษเขียนไว้ว่า "เรื่องนี้ พระวรวงค์เธอพระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ไชยากรณ์ ซึ่งเป็นโอรสของเสด็จในกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เล่าให้ฟังว่า ในขณะนั้นยังมีอักษรอื่นก่อนตัว HS ที่ทรงเลือกอักษร HS เพราะจะให้มีความหมายว่า "His Majesty The King Of SIAM " ในสมัยนั้นประเทศไทยยังเรียกว่า SIAM อยู่ เวลาเรียกขานทางวิทยุทีหนึ่งก็จะได้เป็นการถวายความเคารพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยจึงมีสัญญาณเรียกขาน ว่า HS ตั้งแต่บัดนั้นมา สถานีโทรทัศน์ เช่น สถานีโทรทัศน์กองทัพบก มีสัญญาณเรียกขานทางวิทยุว่า HSATV ฯลฯ"

วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ทำไม 1 วันต้องมี 24 ชั่วโมง


อยากทราบไหมค่ะว่า..ทำไม 1 วัน ต้องมี 24 ชั่วโมง
7ปฏิทินเกิดขึ้นมาจากการที่นักวิทยาศาสตร์สังเกต และบันทึกการเปลี่ยนแปลง การขึ้น-ลงของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายของการผ่านพ้นไปในแต่ละวัน และกลายเป็นเดือน เป็นปี ปฏิทินในยุคแรก ใน 1 เดือน จะมี 29-30 วัน และในช่วง 1 เดือนนั้น ดวงจันทร์มีการเปลี่ยนแปลงจากข้างขึ้นไปเป็นข้างแรม 1 รอบ เมื่อการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดครบ 12 รอบ จึงเกิดเป็น 12 เดือนใน 1 ปี แต่ในช่วง 1 ปีของปฏิทินที่เทียบจากการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์จะสั้นกว่าที่เป็นจริง ชาวอียิปต์จึงสร้างปฏิทินขึ้นใหม่โดยอาศัยการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์แทน ซึ่งจะได้ปฏิทินใหม่ที่มี 30-31 วัน ใน 1 เดือน และมี 365 วัน หรือ 12 เดือนใน 1 ปี
เมื่อมนุษย์เริ่มมีวิวัฒนาการมากขึ้น มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ต่างๆ มนุษย์จึงเริ่มมีการทำกิจกรรมมากขึ้นในแต่ละวัน สิ่งที่ตามมาก็คือความต้องการในการกำหนดเวลา เพื่อให้มีบทบาทในการกำหนดขอบเขตในการทำกิจกรรมของมนุษย์ในเรื่องต่างๆ เช่น การศึกษา การทำงาน การเล่นกีฬา เป็นต้น มนุษย์ใช้การสังเกตเงาจากดวงอาทิตย์ที่ทาบลงวัตถุบนพื้นโลกใน 1 วัน จึงเกิดการนับช่วงเวลาเป็น ชั่วโมง นาที และวินาทีขึ้น
แล้วทำไมถึงต้องมีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ เป็นวันพิเศษอีก 1 วัน ซึ่งจะเวียนมาในทุกๆ 4 ปี ทำให้ในปีนั้นมี 366 วันเกิดขึ้น นั่นเป็นเพราะว่าจริงๆ แล้วโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบใช้เวลา 365 วันกับอีก 5 ชั่วโมง 48 นาที และ 45 วินาที เมื่อนำเวลาที่เกินมาในแต่ละปีนั้นมารวมเข้าด้วยกันในทุกรอบ 4 ปี ก็จะได้วันเพิ่มขึ้นมาอีก 1 วัน จึงเกิดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ขึ้น การกำหนดให้ในช่วงรอบ 4 ปี โดยที่ 3 ปีมี 365 วัน และอีก 1 ปีมี 366 วัน ทำให้ปฏิทินที่ได้มีความถูกต้องแม่นยำขึ้น